ครีมฆ่าเชื้อรามีสเตียรอยด์ใช้ได้ไหม? ควรใช้อย่างไร?

ในปัจจุบันยาที่ใช้สำหรับรักษาโรคผิวหนังมักมีส่วนผสมของสเตียรอยด์ โดยเฉพาะยาในรูปแบบครีมทาผิวหนัง แต่หลายคนคงอาจสงสัยว่าแล้วโรคติดเชื้อราบนผิวหนัง สามารถใช้ครีมฆ่าเชื้อรา (ครีมทารักษาโรคเชื้อรา) ที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ได้หรือไม่ ใช้แล้วจะมีผลข้างเคียงอย่างไร หรือถ้าจะใช้ให้ปลอดภัยต้องทำอย่างไร รวมไปถึงหากต้องการหลีกเลี่ยงสเตียรอยด์สามารถใช้ยาชนิดใดแทนได้บ้าง บทความนี้มีคำตอบมาให้คุณ

ชวนไปรู้จักสเตียรอยด์ คืออะไร?

สเตียรอยด์ (Steroid) ที่เรามักจะได้ยินกันบ่อย ๆ นั้น ที่จริงแล้วเป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่สามารถสร้างขึ้นเองตามธรรมชาติในร่างกาย มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการต้านการอักเสบ หรือควบคุมสมดุลน้ำและเกลือแร่ รวมไปถึงการกดภูมิคุ้มกันอีกด้วย

จากคุณสมบัติที่กล่าวมานั้นเอง ที่ทำให้สเตียรอยด์ถูกนำไปใช้ในทางการแพทย์อย่างกว้างขวาง และนำไปใช้รักษาโรคต่าง ๆ มากมาย โดยสเตียรอยด์ที่ถูกนำไปใช้ทางการแพทย์ คือ คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบสเตียรอยด์ที่ร่างกายสร้างขึ้นนั่นเอง 

ยาสเตียรอยด์ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก

ยาสเตียรอยด์ที่ถูกนำไปใช้ทางการแพทย์นั้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ตามรูปแบบของการใช้งาน ดังนี้

ยาสเตียรอยด์ที่ใช้ภายนอก (External Use)

ยาสเตียรอยด์ที่ใช้ภายนอก (External Use) เป็นยาที่ใช้โดยหวังผลการรักษาเฉพาะที่ สามารถแบ่งได้ตามรูปแบบของยาและการรักษาโรค ดังนี้

  1. ยาทา มีทั้งรูปแบบครีม โลชัน และขี้ผึ้ง ใช้สำหรับรักษาโรคผิวหนังต่าง ๆ 
  2. ยาหยอดตา ยาป้ายตา และยาหยอดหู ใช้สำหรับรักษาอาการภูมิแพ้บริเวณตาและหู
  3. ยาพ่นจมูก ใช้สำหรับรักษาอาการภูมิแพ้ที่มีอาการทางจมูก รวมไปถึงใช้รักษาริดสีดวงจมูกด้วย
  4. ยาพ่นคอ ใช้สำหรับรักษาโรคหืด รวมถึงผู้ที่เป็นภูมิแพ้และมีอาการหอบ

ยาสเตียรอยด์ออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย (Systemic Use)

ยาสเตียรอยด์ออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย (Systemic Use) เป็นยาสำหรับใช้รักษาโรคหรือภาวะบางอย่าง โดยต้องใช้ยาด้วยวิธีฉีดหรือรับประทานเท่านั้น เช่น อาการแพ้บางชนิด โรคหืดชนิดรุนแรง ภาวะภูมิไวเกิน หรือให้แก่ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ 

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาสเตียรอยด์

  1. สเตียรอยด์มีคุณสมบัติในการกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อราได้ง่าย
  2. สเตียรอยด์มีผลทำให้เยื่อบุกระเพาะบางลง หากรุนแรงอาจทำให้มีอาการกระเพาะอาหารทะลุได้ 
  3. หากใช้สเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลทำให้กระดูกผุได้
  4. การใช้สเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน อาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงได้
  5. เสี่ยงเป็นเบาหวาน เพราะยาทำให้น้ำตาลในเลือดสูง

ยาสเตียรอยด์ใช้กับโรคผิวหนังชนิดใด?

ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอก จะถูกนำไปใช้ในการรักษาโรคผิวหนังที่มีอาการอักเสบ อาการคันหรือโรคที่เกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์ที่มากเกินไป รวมถึงโรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งได้แก่ โรคสะเก็ดเงิน โรคผิวด่างขาว โรคผิวหนังอักเสบออกผื่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคผิวหนังอักเสบชนิดแห้งฝ่อ และโรคตุ่มน้ำพองจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

สำหรับผู้ที่มีปัญหาโรคผิวหนังจากการติดเชื้อรา เช่น กลาก เกลื้อน น้ำกัดเท้า ควรรักษาด้วยการทาครีมฆ่าเชื้อรา ไม่ควรใช้ยาทาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ เพราะอาจทำให้อาการของโรคลุกลาม และส่งผลข้างเคียงต่อร่างกายได้ จึงควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาสเตียรอยด์รักษาโรคผิวหนังจากเชื้อรา

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอก ไม่สามารถใช้เป็นครีมฆ่าเชื้อรา หรือรักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อรา เช่น กลาก เกลื้อน น้ำกัดเท้าได้ ซึ่งหากนำไปใช้อาจส่งผลข้างเคียง ดังนี้

  1. ยาสเตียรอยด์มีคุณสมบัติในการกดภูมิต้านทานของร่างกาย จึงทำให้เชื้อรายิ่งเจริญเติบโตและลุกลามได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น
  2. ยาสเตียรอยด์ส่งผลให้ผิวหนังบางลง รวมถึงเส้นเลือดแดงขยายขึ้น ผิวเกิดรอยแดง และเกิดแผลฟกช้ำง่าย รวมถึงแผลหายช้าอีกด้วย
  3. ทำให้แผลที่เป็นอยู่หายช้าลง
  4. เกิดอาการแพ้ยาสเตียรอยด์ได้

ครีมทาแก้เชื้อราที่รักษาอาการได้อย่างตรงจุด คืออะไร?

เชื่อว่าพออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงมีคำถามแล้วว่า ถ้ายาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอก ไม่สามารถใช้ทาแก้เชื้อราได้ และไม่สามารถใช้รักษาโรคผิวหนังจากเชื้อราได้อย่างปลอดภัย แล้วเราควรใช้ครีมแก้เชื้อราแบบใดดี เรามีคำตอบมาให้คุณแล้ว

ครีมทาแก้เชื้อราไบโฟนาโซล

ครีมทาแก้เชื้อรา ที่มีส่วนผสมของตัวยาไบโฟนาโซล เป็นยาต้านเชื้อราในกลุ่ม อิมิดาโซล (Imidazole antifungals) สามารถฆ่าเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคที่ผิวหนัง ได้แก่ กลากที่เท้า กลากที่มือ กลากที่ลำตัว กลากที่ขาหนีบ เกลื้อน และโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อแคนดิด้า เป็นยาฆ่าเชื้อราชนิดออกฤทธิ์กว้าง และมีคุณสมบัติต้านการอักเสบได้ดีเทียบเท่าสเตียรอยด์ (1% Hydrocortisone)

วิธีใช้ครีมทาแก้เชื้อราไบโฟนาโซล

  1. ล้างผิวหนังบริเวณที่จะรักษาให้สะอาดแล้วเช็ดให้แห้ง
  2. ทายาบริเวณที่มีการติดเชื้อราและบริเวณรอบ ๆ วันละ 1 ครั้ง ควรทาก่อนเข้านอน
  3. ควรล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังทายา
  4. ควรทายาต่อเนื่องตามระยะเวลาการใช้ที่ระบุไว้ในเอกสารกำกับยา เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ

ครีมทาแก้เชื้อราไบโฟนาโซลจึงเป็นทางเลือกที่ดีของคนที่ต้องการรักษาโรคผิวหนังจากเชื้อรา โดยไม่ต้องการเสี่ยงกับผลข้างเคียงจากการใช้ยาสเตียรอยด์ และสิ่งสำคัญคือควรใช้อย่างถูกต้องตามข้อกำหนดการใช้ยา เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากที่สุด

 

 

แหล่งอ้างอิง 

  1. กลากเกลื้อน. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565 จาก https://th.yanhee.net/หัตถการ/กลากเกลื้อน/
  2. “สเตียรอยด์” ฤทธิ์ครอบจักรวาล แต่หากใช้เกินจำเป็น ระวังผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565 จาก https://www.vejthani.com/th/2018/06/สเตียรอยด์ระวัง/
  3. ทำความรู้จักกับ ‘สเตียรอยด์’ ใช้บ่อยๆ ใช่ว่าดี. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565 จาก https://www.nakornthon.com/article/detail/ทำความรู้จักกับสเตียรอยด์-ใช้บ่อยๆใช่ว่าดี
  4. ภัยร้ายจากยาสเตียรอยด์. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565 จาก https://w2.med.cmu.ac.th/dis/index.php?option=com_content&view=article&id=70:steroid&catid=18:knowledge&Itemid=35
  5. ปลอดภัยหรือไม่ เมื่อใช้สเตียรอยด์ (steroid). สืบค้นเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565 จาก https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/142/สเตียรอยด์-steroid-ใช้แล้วปลอดภัยหรือไม่/
  6. ยาทาสเตียรอยด์สำหรับโรคผิวหนัง. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565 จาก https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/438/ยาสเตียรอยด์ชนิดทาภายนอก/
  7. สเตียรอยด์ เป็นอย่างไร อันตรายหรือไม่. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565 จาก https://www.pobpad.com/สเตียรอยด์-เป็นอย่างไร-อ